วิเคราะห์ผลกระทบของสถานการณ์ โควิด – 19 ต่อเศรษฐกิจ และ SME ไทยมีอะไรที่จะต้องปรับบ้าง
ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย และกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
เมื่อช่วงหลายปีที่แล้ว ภาพรวมของเศรษฐกิจจะค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ แต่ต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเลขคาดการณ์มาเรื่อยๆ จนได้ข้อสรุปว่า GDP ของประเทศไทยมีตัวเลขที่ยังติดลบ – 5 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลเลยทีเดียว เพราะมันแปลว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ในตอนนี้ เศรษฐกิจไทยเริ่มนิ่ง และคาดการณ์ว่า GDP ไม่น่าจะปรับหรือลดลงไปมากกว่านี้อีกแล้ว ซึ่งก็หมายความว่าเป็นไปในทิศทางที่ไม่เลวร้ายกว่าเดิมยกเว้นแต่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นที่เหนือความคาดหมาย
เมื่อวิกฤต Covid – 19 ที่เกิดขึ้น กลุ่มธุรกิจจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก และที่หนักที่สุดคือ ธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะที่ผ่านมาเราทำทุกอย่างเพื่อซัพพอร์ตนักท่องเที่ยวจีนมาโดยตลอด เมื่อนักท่องเที่ยวจีนหายไป เราก็ได้รับผลกระทบกันค่อนข้างหนัก และมันก็อาจจะลามไปในส่วนอื่นด้วย เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ยิ่งประเทศเราประกาศยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วย ส่งผลให้ธุรกิจของแต่ละเจ้าได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
นอกจากนี้การบริโภคในประเทศ ถ้าพูดถึงในแง่เศรษฐกิจ ตัวเลข GDP กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 40 % ของประเทศ ซึ่งก็แปลว่าการสั่งหยุดกิจกรรมแค่ภายในกรุงเทพฯ ทั้งงานทั้งคนก็หายไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง ตัวเลขคนที่ทำงานในระบบมีตัวเลขอยู่ที่ 10 กว่าล้านคน และแน่นอนว่าคนที่ทำงานอยู่นอกระบบ มีจำนวนที่มากกว่านั้น ถ้าเราปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คนก็ตกงาน ไม่มีเงินหรือกำลังซื้อ แน่นอนการบริโภคก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
แม้ว่าจะเปิดเมืองแล้ว แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ได้กลับมาทันที
เพราะสิ่งที่คนเราตระหนักมากขึ้นคือ เรื่องของความเสี่ยง หลังจากนี้แม้ว่าจะเปิดเมือง แต่ผู้บริโภคบางส่วนยังต้องใช้เวลา กว่าจะมีความกล้ากลับมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือกล้ากลับไปทานอาหารที่ร้าน นอกจากนี้กำลังซื้อที่หายไปจากต่างประเทศก็ยังหายไปด้วยเนื่องจากกฎระเบียบต่างๆ เช่น การที่นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้
หลังจากที่กลับมาเปิดเมืองแล้ว ร้านค้า จะต้องปรับตัวอย่างมากเพราะร้านจะยังมี Capacity เท่าเดิม และจะหารายได้ด้วย Business Model เดิมได้น้อยลง ดังนั้นจึงต้องมองหา Revenue Model และ business Model ใหม่ๆ ต้องกลับมาคิดว่าลูกค้าต้องการจะได้อะไร และจะได้สนองความต้องการของลูกค้าได้ถูกจุด โดยดูว่าสิ่งอะไรที่คนกำลังสนใจมากที่สุดหลังจากที่โควิด – 19 จบไป และเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาได้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐ และคนที่มีกำลังซื้อ ทั้งนี้ต้องออกแบบกลไกการเงินให้ฟื้นฟูให้ได้อย่างยั่งยืน และใช้เงินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ดังนั้น นโยบายที่รัฐบาล จะเข้าไปช่วยเหลือ จะทำแบบเดียวกันไม่ได้ แต่ต้องออกแบบนโยบายที่แตกต่างกัน ตามระดับของผลกระทบ เช่น
กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ : ได้แก่ชนชั้นกลางทั่วไป ลูกจ้างประจำ คนที่ยังไม่ได้ถูกไล่ออก รัฐต้องรีบสร้างแรงจูงใจให้คนเหล่านี้ใช้เงิน เช่น นโยบายท่องเที่ยว เพื่อลดหย่อนภาษี เพื่อดึงให้คนพวกนี้เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนที่เศรษฐกิจจะแย่ จนถึงจุดที่เขาไม่มีกำลังซื้อ
SME หรือผู้ประกอบการ : ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ปิดเมือง ต้องหาเงินกู้เพื่อเยียวยา ให้ธุรกิจรักษาสภาพคล่องไว้ได้ แต่เมื่อเงินสดสำหรับหมุนเวียนหมดแล้ว เมื่อกลับมาเปิดเมือง หรือดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ต้องมีนโยบายสนับสนุนเงิน ตั้งแต่ต้นสำหรับให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ชาร์ลส์ ดาวิน เคยบอกว่า คนที่อยู่รอดไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นคนที่รู้จักปรับตัวได้ดีที่สุด สิ่งต่างๆ จะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และ โควิด – 19 ทำให้เห็นได้ชัดว่า คนส่วนใหญ่ต้องการอะไร เราเรียนรู้จากตรงนั้น แล้วปรับตัวสุดท้ายเราก็จะผ่านมันไปได้